มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 ได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤติจากความรุนแรงขึ้นในโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง และได้กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายและสั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าวขึ้น ตั้งแต่ปี 2543 และขยายให้ครอบคลุมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ในปี 2547 โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์พึ่งได้” (One Stop Service Center : OSCC) เพื่อให้บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤติจากความรุนแรง อย่างครบวงจรครอบคลุมทั้งทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านกฎหมาย และด้านสวัสดิการสังคม เป็นศูนย์ข้อมูลในการประสานการให้ความช่วยเหลือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2547-2566 พบว่า มีเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวที่ถูกกระทำรุนแรงและเข้ารับบริการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งสิ้น 332,401 ราย แบ่งเป็น เด็ก จำนวน 154,453 ราย, สตรี จำนวน 165,494 ราย, เพศชาย จำนวน 7,467 ราย, และเพศทางเลือก จำนวน 79 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567)
กระทรวงสาธารณสุข โดย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทในการพัฒนาระบบบริการศูนย์พึ่งได้ในประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของระบบการช่วยเหลือและคุ้มครองเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยได้นำกรอบแนวคิดของยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติ ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก ในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (United Nation Model Strategies and Practical Measures on the Elimination of Violence against Children in the Field of Crime Prevention and Criminal Justice) ในยุทธศาสตร์ 5 ด้าน โดยนำมาผนวกกับประเด็นยุทธศาสตร์ 3 ข้อ ของแผนปฏิบัติการศูนย์พึ่งได้ แบบบูรณาการเพื่อการป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม พ.ศ. 2562 - 2565 ตลอดจนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights) โดยได้มองเห็นศักยภาพและบทบาทของหน่วยงานต่างๆ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานแก้ปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีความยาก และละเอียดอ่อน ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะในหลายด้าน รวมถึงความสามารถในการเชื่อมโยงเครือข่าย การประสานงาน และการทำงานร่วมกันเป็นสหวิชาชีพ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา หน่วยงานด้านการคุ้มครองเด็ก สวัสดิการสังคม และองค์กรภาคประชาชน
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้กำหนดจัดประชุมวิชาการ ๒๕ ปี ศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้แนวคิด “คืนรอยยิ้ม สร้างพลังแข็งแกร่งให้ชีวิต (OSCC THE SECOND SMILE)” ระหว่างวันที่ ๖ – ๘ มีนาคม ๒๕๖๗ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพื่อเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ตลอดจนสร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับผู้ปฏิบัติงาน และเครือข่ายในการปฏิบัติงานด้านความรุนแรง โดยนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน และขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีไปสู่การรับรู้ของประชาชน ในการสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาความรุนแรง ลดโอกาสการกระทำความ รุนแรงในเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวอย่างยั่งยืน
คณะกรรมการจัดงาน